Last updated: 8 ส.ค. 2566 | 609 จำนวนผู้เข้าชม |
เตรียมพร้อมทั้งน้องแมวและเจ้าของเพื่อลดความกังวลตอนมาโรงพยาบาล
1. การยืนยันนัดหมายและไปตามเวลานัดหมายเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าหากไปตรงเวลานัดหมายจะช่วยลดระยะเวลาในการรอตรวจ และทำให้น้องแมวไม่ต้องเผชิญหน้ากับแมวตัวอื่น ๆ
2. ควรเลือกอุปกรณ์เคลื่อนย้ายหรือตะกร้า ที่แมวรู้สึกคุ้นเคย จะทำให้ลดความเครียดได้อย่างดีเวลาพาน้องแมวออกไปนอกอาณาเขตตัวเอง อุปกรณ์เคลื่อนย้ายหรือตะกร้าควรแข็งแรง มีรูระบายอากาศ ที่สามารถเปิด-ปิด หรือแกะออกได้ การที่มีที่เปิด-ปิดด้านบน จะช่วยให้สามารถนำแมวออกมาได้ง่าย ซึ่งในหนึ่งตะกร้าไม่ควรมีน้องแมวมากกว่า 1 ตัว แต่ถ้าหากมีความสนิทสนมกัน ก็สามารถให้อยู่ร่วมด้วยกันได้
3. ภายในอุปกรณ์เคลื่อนย้ายหรือตะกร้า ควรมีกลิ่นที่คุ้นเคย อาจใช้ผ้าหรือที่นอนที่แมวชอบมาใส่ไว้ หรือหากมีผลิตภัณฑ์ เช่น ฟีโรโมนสังเคราะห์ ให้ฉีดบริเวณด้านในอุปกรณ์เคลื่อนย้ายหรือตะกร้า ก่อนนำน้องแมวใส่ ประมาณ 30 นาที
4. ควรจัดหาวัสดุมาปิดคลุมอุปกรณ์เคลื่อนย้ายหรือตะกร้า เพราะแมวมักชอบหลบซ่อนตัวเพื่อให้รู้สึกปลอดภัย เช่น ผ้าขนหนู
5. ในระหว่างการพาแมวขึ้นรถมายังโรงพยาบาล ควรนำตะกร้าหรืออุปกรณ์เคลื่อนย้ายวางไว้บริเวณช่องว่างใต้เบาะ หรือจะวางบนเบาะ แต่ควรมีอุปกรณ์รัด เพื่อไม่ให้ตะกร้าหรืออุปกรณ์เคลื่อนย้ายเคลื่อนไปมาได้ จะทำให้แมวรู้สึกปลอดภัย ในระหว่างเดินทางควรเปิดเพลงคลาสสิกเบาๆ และขับรถอย่างนุ่มนวล เพื่อให้แมวรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
6. การถืออุปกรณ์เคลื่อนย้ายหรือตะกร้า ควรจับบริเวณด้านบน และบริเวณฐานของอุปกรณ์เคลื่อนย้ายหรือตะกร้า ไม่ควรถือให้กระแทกกับข้างลำตัวหรือขาของผู้ถือ เพราะจะทำให้แมวตกใจได้ง่าย
7. เมื่อมาถึงโรงพยาบาลที่เป็นมิตรกับแมว (Cat friendly clinic) ควรพาแมวไปยังจุดพักคอย สำหรับแมวโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นจุดที่เงียบ สงบ และรู้สึกผ่อนคลาย เพื่อรอตรวจกับสัตวแพทย์
8. โดยปกติแมวจะสามารถรับรู้อารมณ์ของเจ้าของได้ ด้วยการจดจำท่าทาง ลักษณะ สีหน้า และน้ำเสียง ถ้าหากเจ้าของรู้สึกผ่อนคลาย ไม่วิตกกังวล มีความสุข อารมณ์เชิงบวกเหล่านี้ จะส่งถึงให้แมว แต่ถ้าหากเจ้าของกังวล กลัว เครียด อารมณ์เหล่านี้ก็จะส่งถึงแมวเช่นกัน
9. ควรนำขนมที่แมวชอบเพื่อเป็นรางวัลระหว่างการตรวจหรือหลังตรวจได้ เพื่อสร้างพลังบวกในด้านพฤติกรรม
24 ส.ค. 2567
11 พ.ย. 2566
13 ก.ย. 2567