Last updated: 30 มี.ค. 2566 | 5351 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาทในสุนัข
(Cervical Spondylomyeloathy หรือ Wobbler syndrome)
เป็นความผิดปกติของกระดูกสันหลังส่วนคอ โดยมีลักษณะเฉพาะของโรค คือ เกิดการเคลื่อนของกระดูกคอร่วมกับโครงสร้างรอบ ๆ กระดูกคอไปกดทับเส้นประสาทไขสันหลัง โดยมีลักษณะจำเพาะ คือ เป็นการเคลื่อนกดทับแบบไดนามิค (dynamic compression) เช่น เมื่อเงยคอจะทบการกดทับเส้นประสาทอย่างรุนแรง แต่พอก้มคอจะพบการกดทับนั้นลดลง
โรคกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาทในสุนัข มักพบในสุนัขพันธุ์ใหญ่ โดยสุนัขพันธุ์ใหญ่มีโอกาสในการเกิดการกดทับของไขสันหลัง (spinal cord) และปมรากประสาท (spinal nerve root) ได้ง่าย ส่งผลให้ระบบการทำงานของกระแสประสาทที่บริเวณดังกล่าวถูกรบกวนหรือทำให้เกิดความเจ็บปวดในตำแหน่งที่เกิดการกดทับได้
โดยเฉลี่ยประมาณ 50% ของสุนัขที่ป่วยโรคนี้พบว่ามักเป็นสุนัขพันธุ์โดเบอร์แมนพินเชอร์ (Doberman pinschers) นอกจากนี้ยังสามารถพบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์ไวมาราเนอร์ (Weimaraner) เกรทเดน (Great Dane) ร็อตไวเลอร์ (Rottweiler) และดัลเมเชี่ยน (Dalmation) แม้ความผิดปกติดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้บ่อยในบางสายพันธุ์ที่กล่าวมา แต่สายพันธุ์อื่น ๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ รวมถึงสุนัขพันธุ์เล็กเช่นกัน
.
.
สาเหตุของการเกิดสามารถแบ่งออกได้ 4 สาเหตุ ได้แก่
พันธุกรรม (genetic) ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคนี้ แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แม้ว่าจะมีการศึกษาในประชากรสุนัขโดเบอร์แมนจำนวนมากก็ตาม ยังไม่พบสารพันธุกรรมจำเพาะชนิดใดที่ทำให้เกิดโรคนี้ ความผิดปกติแต่กำเนิด (congenital) มีการศึกษาเทียบระหว่างลักษณะกระดูกคอในลูกสุนัขพันธุ์โดเบอร์แมนกับพันธุ์อื่น พบว่ามีความผิดปกติของกระดูกคอข้อที่ 5 6 และ 7 ในสุนัขพันธุ์โดเบอร์แมนแตกต่างจากพันธุ์อื่นอย่างชัดเจน
.
โครงสร้างร่างกาย (body conformation) พบว่าลักษณะของโครงสร้างร่างกายก็เป็นปัจจัยโน้มนำให้เกิดโรคนี้ได้ โดยมักพบในสุนัขที่มีศีรษะขนาดใหญ่และคอยาว และอาจจะร่วมกับอัตราการเจริญของกระดูกที่รวดเร็ว ทำให้เกิดแรงกดที่กระดูกคอผิดปกติ จนทำให้เกิดการเคลื่อนของกระดูกคอตามมาในอนาคต อาหาร (nutrition) พบว่าอาหารหรือพฤติกรรมการกินอาหารอาจส่งผลให้เกิดโรคนี้ได้ เช่น การกินอาหารที่มากเกินไปจนน้ำหนักตัวมาก หรือการได้รับแคลเซียมในอาหารที่มากเกินไปในสุนัขพันธุ์เกรทเดน เป็นต้น
.
โรคกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาทสามารถแบ่งการเกิดออกเป็น 2 รูปแบบ
การตีบแคบของกระดูกสันหลังส่วนคอ มักเกิดในลูกสุนัข โดยเฉพาะในสุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น โดเบอร์แมน, เกรทเดน, มัสทีฟ และ เบอร์นีสเมาน์เทน เป็นต้น โดยปกติรูปทรงของกระดูกสันหลังส่วนคอของสุนัขเป็นรูปสี่เหลี่ยม และมีรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยมอยู่ตรงกลาง เป็นบริเวณที่รับแรงกดก่อนถึงส่วนของไขสันหลัง หากสุนัขมีรูปร่างของกระดูกสันหลังผิดปกติจะก่อให้เกิดความผิดปกติดังกล่าวตามมาได้ และมักแสดงอาการของความผิดปกติตั้งแต่อายุยังน้อย และค่อย ๆ พัฒนาโรคเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ
การเสื่อมของกระดูกคอ มักเกิดในช่วงอายุกลาง ๆ ถึงอายุมาก สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากความเสื่อมเรื้อรังของหมอนรองกระดูก ซึ่งจะค่อย ๆ เกิดแรงกดทับลงบนไขสันหลัง ซึ่งการเกิดอาการของกระดูกสันลังส่วนคอเรียงตัวผิดปกติ รูปแบบนี้มักเกิดในสุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ และดัลเมเชี่ยน เป็นต้น
อาการที่พบ
อาการทางคลินิคที่พบสามารถพบได้ทั้งแบบที่ค่อย ๆ เกิด และเกิดอย่างฉับพลัน สุนัขส่วนใหญ่แสดงอาการเจ็บปวดบริเวณกระดูกคอ บางตัวแสดงอาการแย่ลงอย่างฉับพลันจนรับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง เช่น หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท อาการเดินไม่สัมพันธ์ของขาหลังเป็นอาการที่พบได้บ่อย สุนัขจะเดินในลักษณะลากขา หรืออาการอัมพฤกษ์ จนบางครั้งรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาตของขาหลัง ส่วนการเดินของขาหน้าขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค สุนัขบางตัวไม่แสดงอาการผิดปกติของขาหน้า ในขณะที่บางตัวอาจพบอาการเกร็งเวลาเดิน ก้าวขาหน้าสั้น ๆ หรือไม่ลงน้ำหนักที่ขาหน้า และสุนัขบางตัวมีปัญหาในการหมุนตัวและก้าวสลับขาหน้าขณะหมุนตัว สุนัขอาจจะแสดงอาการเจ็บบริเวณคอ และไม่อยากเงยคอหรือก้มคอกินอาหาร รวมทั้งการหันคอไปด้านข้าง
แนวทางการตรวจวินิจฉัย
สามารถยืนยันการตรวจวินิจฉัยได้ด้วยการเอกซเรย์บริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ ซึ่งสามารถเห็นความผิดปกติของลักษณะกระดูกสันหลังได้จากการถ่ายภาพเอกซเรย์ นอกจากนี้สามารถถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วยเทคนิคพิเศษได้ โดยการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในไขสันหลัง (myelogram) และสามารถตรวจวินิจฉัยยืนยันได้ด้วยการทำ CT scan หรือ MRI ได้ โดยจะช่วยให้เห็นส่วนของไขสันหลังที่เกิดความผิดปกติได้ ในหลาย ๆ กรณีหากมีการงอหรือเหยียดคอร่วมด้วยจะสามารถบอกถึงระดับความรุนแรงของการถูกกดของไขสันหลังได้ และสามารถพบการกดทับไขสันหลังแบบไดนามิกเช่นกัน โดยปกติสุนัขที่มีปัญหาการเรียงตัวของกระดูกสันหลังส่วนคอผิดปกติ จะพบการกดของไขสันหลังร่วมด้วย และมักพบในหลายตำแหน่งของกระดูกสันหลังส่วนคอ
แนวทางการรักษา
การรักษากลุ่มอาการของโรคกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาทสามารถรักษาได้ทั้งทางยาโดยไม่ผ่าตัดและการรักษาทางการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติ
1.การรักษาโดยไม่ผ่าตัด
การรักษาด้วยวิธีที่ไม่ผ่าตัดสามารถช่วยได้ในบางสภาวะเท่านั้น และสามารถช่วยได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเหมาะสำหรับสุนัขที่มีอาการไม่รุนแรงและการพัฒนาของโรคเป็นไปอย่างช้าๆ โดยการรักษาจะเป็นการใช้ยาและการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย
.
การให้ยาลดปวดระบบประสาท การใช้ยาลดการอักเสบ อาจจะเป็นกลุ่มสเตียรอยด์ หรือไม่ใช่สเตียรอยด์ขึ้นกับความรุนแรงของอาการระบบประสาท การจัดการการออกกำลังกาย โดยควรให้สุนัขได้พักในพื้นที่ปิดเพื่อจำกัดบริเวณ และมีการออกกำลังกายที่เหมาะสมร่วมด้วย การกายภาพบำบัด เช่น การนวด, เลเซอร์, อัลตราซาวน์ การใช้ลู่วิ่งใต้น้ำ และการว่ายน้ำ เป็นต้น
2.การรักษาโดยการผ่าตัด
สามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น การผ่าตัดเพื่อนำหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนมากดทับไขสันหลังออก เป็นวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสำหรับการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกที่ไม่รุนแรงมากนัก และไม่มีความเสียหายของปมรากประสาทร่วมด้วย โดยการผ่าตัดจะเป็นการตัดส่วนของกระดูกสันหลังที่ติดกับบริเวณที่อยู่ของไขสันหลัง เพื่อให้สามารถนำส่วนของหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนออกมากดไขสันหลังออกได้
การผ่าตัดเพื่อยึดตรึงแนวกระดูกสันหลังส่วนคอ เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับในกรณีที่มีการเคลื่อนของกระดูกคออย่างรุนแรง และเกิดความเสียหายของปมรากประสาทร่วมด้วย เป็นการผ่าตัดเพื่อยืดขยายส่วนของกระดูกสันหลังส่วนคอที่มีปัญหา โดยการใส่แผ่นเหล็กหรืออุปกรณ์ยึดตรึงชนิดอื่น เพื่อยึดแนวกระดูกสันหลังส่วนคอไม่ให้มีการเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทอีก การผ่าตัดโดยการใส่หมองรองกระดูกเทียมเข้าไปแทนที่หมอนรองกระดูกส่วนที่ผิดปกติ ซึ่งจะช่วยให้สุนัขสามารถขยับส่วนของคอได้ดีขึ้น และสามารถป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำได้
การพยากรณ์โรค
การพยากรณ์โรคกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาทในสุนัขขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการที่พบ ระยะเวลา และระดับการถูกกดทับของไขสันหลัง ในสุนัขที่แสดงอาการรุนแรงที่ไม่สามารถยืนหรือเดินได้ การพยากรณ์หลังผ่าตัดจะอยู่ในระดับปานกลาง โดยสุนัขบางตัวสามารถกลับมาเดินได้ภายหลังการผ่าตัด แต่ต้องได้รับการกายภาพบำบัดร่วมด้วยหลังผ่าตัด ส่วนสุนัขที่มีอาการเดินลำบากเพียงเล็กน้อยจะมีโอกาสในการกลับมาเดินได้มากกว่า
เป้าหมายสำคัญของการผ่าตัด คือ เพื่อหยุดการพัฒนาของโรค เนื่องจากการกดทับของไขสันหลังนี้สุนัขมักแสดงอาการของโรคในระยะยาวและการทำให้ไขสันหลังเสียหายถาวรได้ สุนัขส่วนใหญ่จึงมีอาการเดินไม่ปกติจนกระทั่งได้รับการผ่าตัด และสุนัขหลายตัวมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหลังได้รับการผ่าตัด
.
บทความโดย
ผศ.น.สพ.ดร. นิรุตติ์ สุวรรณณา (อว.สพ. อายุรศาสตร์)
Asst. Prof. Nirut Suwanna, DVM, MS, PhD, DTBVM
ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โรงพยาบาลสัตว์เศรษฐกิจสัตวแพทย์
รักลูกคุณเหมือนที่คุณรัก
บริการทุกวันเวลา : 08.00 – 21.00 น.
เบอร์โทร : 02-809-2372 และ 02-809-1615
เบอร์มือถือ : 086-328-3781
Location : https://g.page/setthakitanimalhospital?share