ฮีทสโตรก!!…อันตรายของ "สัตว์เลี้ยง" หน้าร้อน

Last updated: 12 Apr 2023  |  5863 Views  | 

โรคฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยง

ฮีทสโตรก!!…อันตรายของ "สัตว์เลี้ยง" หน้าร้อน


นับวันอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ น้องหมาน้องแมวของเราเองก็มีความเสี่ยงต่อโรคที่เป็นผลจากความร้อนโดยตรง นั้นก็คือ "โรคฮีทสโตรก" หรือ "โรคลมแดด" (Heat Stroke)



อาการของโรคฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยง

1. หายใจหอบถี่ ลมหายใจร้อนผิดปกติ 
2. ปลายมือ-เท้า ปลายใบหูร้อนผิดปกติ
3. น้ำลายไหลมาก
4. เหงือกจะสีแดงเข้ม บางตัวอาจมีเลือดออกเป็นจุดตามลำตัว
5. หัวใจเต้นเร็ว
6. สัตว์เลี้ยงบางตัว มีอาการอาเจียน ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นเลือด
7. อ่อนแรง ม่านตาขยาย ในสัตว์ลี้ยงบางตัว อาจมีอาการมึนงง
8. ในกรณีของแมว จะเริ่มมีพฤติกรรมที่แปลกไปกระวนกระวาย กระสับกระส่ายไปมา และเลียขนมากกว่าปกติ
9. ช็อก เป็นลมหมดสติ


หากสังเกตว่าสัตว์เลี้ยงของเรามีอาการเข้าข่าย 1 ใน 9 ข้อนี้ อาจจะเริ่มมีอาการของฮีทสโตรกแล้ว ควรรีบปฐมพยาบาลสัตว์เลี้ยงเบื้องต้น ก่อนนำส่งสัตวแพทย์ใกล้บ้านทันที อย่าปล่อยไว้นานเกินไป เพราะไม่อย่างนั้น อาจอันตรายถึงชีวิตสัตว์เลี้ยงได้


ปัจจัยที่ทำให้สัตว์มีความเสี่ยงเกิดภาวะฮีทสโตรก

ทิ้งสัตว์เลี้ยงไว้ในรถกลางแดดจัด สัตว์เลี้ยงอยู่ในตำแหน่งในบ้านที่อุณหภูมิสูงในตอนกลางวัน และอากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น โรงรถ หรือสนามหน้าบ้าน สัตว์สูงอายุ มีภาวะอ้วน ขนยาว พันธุ์หน้าสั้น หรือสัตว์ป่วยที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ


การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

1. ย้ายสัตว์ป่วยออกจากบริเวณที่มีอากาศร้อน โดยเข้าไปหลบในที่มีร่มเงา หรือในอาคารที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี หรือในห้องปรับอากาศ

2. ถอดสายจูง เสื้อ สายรัดอก ออกจากตัวสัตว์ เพื่อให้สัตว์ป่วยหายใจได้สะดวกที่สุด

3. ตรวจสัญญาณชีพ ได้แก่  สังเกตว่าสัตว์เลี้ยงยังหายใจหรือไม่  สังเกตว่าสัตว์เลี้ยงยังรู้สึกตัวอยู่หรือไม่ โดยการเรียก หรือเขย่าตัว หรือหยิกบริเวณนิ้วเท้าว่ามีการขยับใดๆ หรือไม่
จับบริเวณช่องอกด้านซ้าย เพื่อสัมผัสการเต้นของหัวใจ หากไม่พบ ต้องรีบพามาพบสัตวแพทย์เพื่อทำการกู้ชีพทันที

4. หากสัญญาณชีพยังดีอยู่ ให้ค่อยๆ ลดอุณหภูมิร่างกายสัตว์ป่วย ด้วยการเช็ดตัว โดยใช้ผ้าชุมน้ำเช็ดบริเวณขาหนีบ รักแร้ และใบหูทั้งสองข้าง พร้อมทั้งใช้ลมโบก หรือพัดลมช่วยพาความร้อนออกไป ห้ามเอาน้ำราดตัวสัตว์หรือใช้น้ำแข็งรดบนตัวสัตว์เด็ดขาด เราต้องการค่อยๆ ลดอุณหภูมิ

5. หากสัตว์เริ่มมีสติ เริ่มเลียริมฝีปาก และมีการตอบสนองดีขึ้น ค่อยๆ เอาน้ำเย็นหยดที่ปลายลิ้นให้สัตว์เลีย แต่ถ้ายังไม่รู้สึกตัว หรือยังไม่ตอบสนอง ห้ามทำเด็ดขาด เพราะอาจจะสำลักลงหลอดลมได้

6. รีบพาไปพบสัตว์แพทย์โดยด่วน เพื่อทำการแก้ไขในขั้นตอนต่อไป


โรคลมแดดป้องกันได้ถ้าเราคอยดูแลสัตว์เลี้ยง และระวังไม่ให้อยู่ในพื้นที่ร้อนจัด ถ้าเกิดขึ้นเจ้าของสัตว์เลี้ยงอย่าตกใจ ควรมีสติ และปฐมพยาบาลสัตว์เลี้ยงเบื้องต้น ก่อนนำส่งโรงพยาบาลสัตว์ใกล้บ้าน เพียงเท่านี้..สัตว์เลี้ยงที่คุณรักก็จะปลอดภัยอยู่กับเราไปนานๆ
รักลูกคุณเหมือนที่คุณรัก โรงพยาบาลสัตว์เศรษฐกิจสัตวแพทย์


โรงพยาบาลสัตว์เศรษฐกิจสัตวแพทย์
บริการทุกวันเวลา : 08.00 – 22.00 น.
เบอร์โทร :  02-809-2372 และ 02-809-1615
เบอร์มือถือ : 086-328-3781
Location : https://g.page/setthakitanimalhospital?share

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่